วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558


10 ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุน 
กระดูกพรุน เป็นภาวะที่เนื้อกระดูกลดลง ทำให้โครงสร้างกระดูกผิดไป กระดูกขาดความแข็งแรง เปราะบาง ทำให้หักหรือยุบตัวง่ายเมื่อได้รับแรงกระทบ เมื่ออายุขึ้นเลข 30 ปี อัตราการสร้างจะเริ่มน้อยกว่าการสลาย เมื่อเลยวัยกลางคนเนื้อกระดูกจึงเริ่มลดลงไปมาก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ในวัยสูงอายุปกติผู้ชายจะเกิดภาวะกระดูกพรุนราวอายุ 65-70 ปี ส่วนผู้หญิงเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อหมดประจำเดือน และเกิดภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่อายุ 50-55 ปี

ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะกระดูกพรุนที่สำคัญ ได้แก่
1. อายุ ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดกระดูกพรุนสูง
2. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือได้รับการตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง จะเกิดภาวะกระดูกพรุนได้อย่างรวดเร็ว
3. อาหาร การกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดกระดูกพรุน อาหารที่มีแคลเซียมปริมาณมาก ได้แก่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้ งาดำ ถั่ว กะปิ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อยที่กินทั้งกระดูกและผักใบเขียว อาหารที่ควรลด ได้แก่ ไขมัน เนื่องจากไขมันขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนั้นควรลดอาหารที่มีรสเค็มจัด
4. สิ่งที่ควรงด ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และดื่มกาแฟในปริมาณมากทุกวัน การดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้ว ไม่มีผลต่อการทำให้เกิดกระดูกพรุน
5. การออกกำลังกาย เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างกระดูก การออกกำลังกายที่กระดูกต้องรับน้ำหนัก สร้างเนื้อกระดูกได้ดีกว่าการออกกำลังกายที่กระดูกไม่ได้รับน้ำหนัก ถ้ามีโอกาสควรออกกำลังกายกลางแจ้งบ้าง เพราะจะได้รับวิตามินดีธรรมชาติจากแสงแดด
6. การใช้ยา ยาที่มีผลต่อการเกิดกระดูกพรุน ได้แก่ ยาสตีรอยด์ซึ่งมีรูปแบบทั้งยาฉีด ยากิน ยาทา ยาพ่นจมูก และใช้รักษาโรคเรื้อรังหลายโรค เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคหอบหืด โรคผิวหนัง ใช้บรรเทาอาการปวด และยังพบยาสตีรอยด์ในยาลูกกลอน และยาที่ใช้รักษาสารพัดโรค นอกจากนั้นยาขับปัสสาวะ และยากันชักบางชนิด ที่กินติดต่อกันเป็นเวลานาน มีผลต่อกระดูกพรุนเช่นเดียวกัน
7. โรคเรื้อรัง ที่มีผลต่อกระดูกพรุน ได้แก่ เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ พาราไทรอยด์
8. รูปร่าง น้ำหนัก คนที่ผอมบาง น้ำหนักตัวน้อย มีผลต่อกระดูกพรุน
9. กรรมพันธุ์ จากผลงานการวิจัยพบว่า กรรมพันธุ์มีส่วนต่อกระดูกพรุน
10. เชื้อชาติ คนผิวขาว คนเอเชีย มีโอกาสเกิดกระดูกพรุนมากกว่าคนผิวดำ


การป้องกันกระดูกพรุนที่มีประสิทธิภาพ ควรเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากกระดูกจะหนาแน่นได้เต็มที่จนถึงประมาณอายุ 30 ปี คนเราจึงควรประพฤติปฏิบัติเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้ได้กระดูกที่สมบูรณ์ที่สุด แข็งแรงที่สุดเมื่ออายุ 30 ปี ต้นทุนเนื้อกระดูกที่หนาแน่นกว่า เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสเกิดกระดูกพรุนจะน้อยกว่า

(เครดิตภาพ : คนบ้านป่า)